การดูแลรักษา
เมื่อหยอดเมล็ดแล้วต้องรดน้ำให้ชุ่มเมื่อแตงโมขึ้นมา มีใบจริง 2-3 ใบ ถอนแยกให้เหลือหลุมละ 2-3 ต้น โดยคัดเลือกเอาแต่ต้นแข็งแรงไว้ แต่ถ้าปลูกให้ต้นห่างกัน 90 เซนติเมตร และแถวห่างกัน 3 เมตรแล้ว ก็เหลือหลุมละ 3 ต้นได้ รวมแล้วในเนื้อที่ 1 ไร่ จะมีต้นแตงโมอยู่ประมาณ 1,700 ต้น
วิธีช่วยให้เมล็ดแตงโมงอกเร็วขึ้น
สำหรับผู้ที่หยอดเมล็ดแตงโมในฤดูหนาว มักจะพบว่าแตงโมงอกช้า หรือไม่งอกเลย ทั้งนี้เพราะว่า ถ้าอุณหภูมิในดินปลูกต่ำกว่า 15.5 องศาเซลเซียส เมล็ดแตงโมจะไม่งอกโดยธรรมชาติ ฉะนั้นเพื่อขจัดปัญหาเมล็ดไม่งอกในฤดูหนาวควรทำการหุ้มเมล็ดโดยแช่เมล็ดแตงโมในน้ำอุ่น แล้วทิ้งไว้ 1 วันกับ 1 คืน แล้วเอาผ้าเปียกห่อวางไว้ที่อื่น ๆ ในบ้าน จะช่วยทำให้เมล็ดแตงโมงอกได้เร็วขึ้น และงอกได้อย่างสม่ำเสมอ เมื่อรากเริ่มโผล่ออกมาจากเมล็ด ก็เอาไปเพาะในถุงหรือกระทงใบตองได้ รอจนกล้ามีใบจริงแล้ว 2-3 ใบ จึงนำลงปลูกในไร่ หรือหากไม่สะดวกเพราะต้องการประหยัดแรงงาน ก็อาจนำเมล็ดที่งอกนั้นไปปลูกในแปลงได้เลย โดยหยอดลงในหลุมแบบเดียวกับหยอดเมล็ดที่ยังไม่งอก แต่ต้องให้น้ำในหลุมที่จะหยอดล่วงหน้าไว้ 1 วัน เพื่อให้ดินในหลุมชื้นพอเหมาะ หยอดเมล็ดที่งอกแล้วกลบดินทับหนาไม่เกิน 1 เซนติเมตร แล้วรดน้ำ ต้นแตงโมจะขึ้นมาสม่ำเสมอกันทั้งไร่
ปุ๋ยและการให้ปุ๋ยแตงโม
ปุ๋ยคอก การใส่ปุ๋ยคอกให้แก่แตงโมก็มีความสำคัญมาก เพราะปุ๋ยคอกช่วยทำให้ดินร่วนโปร่ง ช่วยทำให้ดินมีธาตุอาหารมากขึ้น แล้วยังช่วยทำให้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์อยู่ในสภาวะสมดุลเป็นประโยชน์ต่อพืชมากขึ้นด้วย ควรใส่ปุ๋ยคอกในพื้นที่ปลูกจริง อัตราไร่ละ 2-4 ตัน
ปุ๋ยวิทยาศาสตร์หรือปุ๋ยเคมี ควรใช้ปุ๋ยเคมีอัตราส่วน 1 : 1 : 2 ซึ่งได้แก่ปุ๋ยเคมี สูตร 10-10-20 เป็นต้น หรือใช้ปุ๋ยสูตรใกล้เคียงได้ เช่น ปุ๋ยสูตร 13-13-21 ใส่ในอัตราไร่ละ 100-150 กิโลกรัม จะตัดสินใจใส่ปุ๋ยมากหรือน้อยก็ต้องดูความอุดมสมบูรณ์ของดิน และราคาแตงโมประกอบกันด้วย ปกติแล้วจะใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ประมาณ 120-150 กก./ไร่ต่อฤดูปลูก
วิธีการใส่ปุ๋ยให้กับต้นแตงโม
ผู้ปลูกแตงโมส่วนใหญ่ยังนิยมใส่ปุ๋ยเคมี ลงบนผิวดิน โดยหว่าน หรือวางเป็นกระจุกหน้าดิน แล้วรดน้ำเพื่อให้ปุ๋ยละลายน้ำลงไปสู่รากแตงดม การใส่ปุ๋ยวิธีดังกล่าวนี้ เป็นวิธีที่จะทำให้เปลืองปุ๋ยมาก รากพืชจะได้รับธาตุไนโตรเจนกับโปแตสเซียมจากปุ๋ยเคมีเท่านั้น แต่จะไม่ได้รับธาตุฟอสฟอรัสจากปุ๋ยเคมีนั้นเลย หรือได้รับก็ได้รับเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะตามปกติธาตุฟอสฟอรัสจะไม่เคลื่อนย้ายจากผิวหน้าดินลงไปสู่รากแตงโมแต่อย่างใด ซึ่งธาตุฟอสฟอรัสนั้นก็เป็นธาตุที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของแตงโมมากพอสมควรทีเดียว
ฉะนั้น การใส่ปุ๋ยเคมี จึงควรใส่ไว้ใต้ดินเป็นกลุ่ม ๆ เช่น ใส่รองก้นหลุมก่อนปลูก หรือใส่ไว้ใต้ผิวดินห่างจากโคนต้นแตงโม สัก 1 ฟุต ใส่เป็นกลุ่ม แตงโมจะได้รับปุ๋ยอย่างเต็มที่
ปุ๋ยที่ใส่เสริมหลังปลูก
ต้องคำนึงถึงอยู่เสมอว่า รากแตงโมส่วนใหญ่เดินตามแนวนอนขนานกับผิวดิน และเถาของมัน ฉะนั้นการใส่ปุ๋ยหลังปลูกควรใส่ที่ปลายราก และต้องไม่ใส่มากจนปุ๋ยเข้มข้นเกินไป และต้องให้ปุ๋ยอยู่ในรูปที่ค่อย ๆ ละลายน้ำ เพื่อให้รากดูดซับเอาไปใช้ได้พอดี
เวลาของการใส่ปุ๋ยเพิ่มภายหลังปลูก
- การใส่ปุ๋ยเสริมครั้งที่ 1 ใส่แบบโรยรอบต้นด้วยยูเรีย ใส่เมื่อต้นแตงโมมีใบจริงประมาณ 5 ใบ (ปุ๋ยยูเรียโรยที่ผิวดินได้)
- การใส่ปุ๋ยเสริมครั้งที่ 2 ใส่ปุ๋ยยูเรียด้านข้างแถวของต้นแตงโมใส่เมื่อเถาแตงโมทอดยาวได้ประมาณ 1 ฟุต ควรพรวนดินก่อนแล้วจึงใส่ปุ๋ยแล้วปิดคลุมด้วยฟาง
- การใส่ปุ๋ยเสริมครั้งที่ 3 ใส่ปุ๋ยยูเรียและโปแตสเซียมคลอไรด์ โดยใส่ด้านข้างแถวของต้นแตงโม ใส่เมื่อเถาแตงโมมีความยาวได้ประมาณ 7 ฟุต หรือประมาณ 90 เซนติเมตร (ปุ๋ยทั้งสองชนิดนี้โรยบนผิวดินได้)
การให้น้ำและการดูแลรักษาแปลง
ตามธรรมชาติต้นแตงดมต้องการผิวดินชุ่มชื้น แต่ไม่ถึงกับแฉะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนที่ผลแตงโมกำลังเจริญเติบโต เป็นตอนที่ต้นแตงโมต้องการน้ำมากการให้ความชุ่มชื้นแก่ดินในแปลงควรให้ทั้งแปลงเพื่อป้องกันไม่ให้หน้าดินแห้งแข็งและจับปึก ซึ่งจะทำให้ดินขาดอากาศอ๊อกซิเจน ถ้าดินขาดอากาศเมื่อใด รากแตงโมจะหยุดชะงักการเจริญเติบโตเมื่อนั้น ซึ่งหมายถึงว่าต้นแตงโมจะได้รับน้ำ และธาตุอาหารอยู่ในขอบเขตที่จำกัดไปด้วย ดินที่ขาดน้ำแล้วแห้งแข็งทำให้ขาดอากาศไปด้วยนั้นคือดินเหนียว และดินที่ค่อนข้างหนัก ส่วนดินทรายและดินร่วนทราย รากแตงโมจะไม่ขาดอากาศ แม้ว่าจะขาดน้ำก็ตาม ดินร่วนทรายและดินทรายสามารถไถพรวนในหน้าดินลึกมาก ๆ ได้ เพื่อให้สามารถยึดจับความชื้นที่เราให้ไว้ได้มากขึ้น ส่วนดินเหนียวนั้นไม่สามารถไถพรวนให้ลึก เท่าดินทราย หรือดินร่วนทรายได้ เพราะเนื้อดินทั้งเหนียวและแน่นอุ้มน้ำไว้ในตัวได้มากกว่าดินทราย แต่ก็คายน้ำออกจากผิวดินได้ไวมาก และดูดซับความชื้นได้ตื้นกว่าดินทราย หรือดินร่วนทราย จึงทำให้ต้องให้น้ำกับต้นแตงโมที่ปลูกในดินเหนียวมากกว่า คือต้องให้น้ำอย่างน้อย 5 วันครั้ง หรือรดน้ำทุกวัน ๆ ละครั้ง
ประโยชน์ของการคลุมด้วยฟาง
เมื่อเถาแตงโมเจริญเติบโตได้ระยะหนึ่ง เราควรจะปิดคลุมหน้าดินด้วยฟาง การคลุมดินด้วยฟางจะมีผลดังนี้ คือ
- ช่วยรักษาความชุ่มชื้นในดินให้คงอยู่ได้นาน ทำให้รากแตงโมดูดซับธาตุอาหารในดินได้ติดต่อกันโดยไม่ขาดตอน
- ทำให้ต้นแตงโมเป็นโรคทางใบน้อยลง เพราะต้นและเถาเลื้อยอยู่บนฟางไม่ได้สัมผัสกับดิน
- ป้องกันไม่ให้ดินร้อนจัดเกินไป
- เป็นการรองผลทำให้สีของผลสม่ำเสมอ
- ควบคุมไม่ให้หญ้าขึ้นและเจริญเติบโตมาแข่งกับแตงโม เพราะแตงโมแพ้หญ้ามากเนื่องจากหญ้าส่วนใหญ่มีใบปรกดิน เถาแตงโมนั้นทอดนอนไปกับผิวดิน หากหญ้าขึ้นคลุมแตงโมเมื่อใด หญ้าจะบังใบแตงโมไม่ให้ถูกแดดทำให้ใบแตงโมปรุงอาหารไม่ได้เต็มที่ และจะอ่อนแอลงทันทีในที่สุดจะตายหมด ภายในเวลา 2-3 สัปดาห์ เท่านั้น
การคลุมฟางจะมีผลต่อการเจริญเติบโตของแตงโมมาก ในต่างประเทศนิยมใช้พลาสติกสำหรับคลุมแปลง ซึ่งสะดวกในการปฏิบัติมาก และขณะนี้วัสดุดังกล่าวเริ่มนำมาใช้ในการปลูกแตงเทศในภาคเหนือของประเทศไทยแล้ว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น